องค์ประกอบการตกแต่งบั้งไฟ หรือ การเอ้บั้งไฟ ของ บุญบั้งไฟ

การเอ้บั้งไฟ เอ้ ในภาษาลาวหรือ ภาษถิ่นอีสาน นั้น แปลว่า ตกแต่ง ประดับ ให้สวยงาม โดย นอกจากใช้กับการตกแต่งรถบั้งไฟสวยงาม หรือ ตัวบั้งไฟให้สวยงามแล้ว ยังใช้รวมถึง กับ นางรำในขบวนฟ้อน เช่น "นางเอ้" หมายถึง นางรำ หรือ ช่างฟ้อน ที่หน้าตาสวย โดดเด่น หรือ รำสวยงาม เอาไว้ ประดับ ขบวน หรือรำในแถวหน้าของขบวนฟ้อน เป็นต้น โดยปกติ การเอ้บั้งไฟ ในสมัยก่อน ในแต่ละชุมชน จะมีการตกแต่ง บั้งไฟ และการตกแต่งเครื่องประกอบ ในรถที่ใช้แห่บั้งไฟ (เกวียน) หรือ รถยนต์ในปัจจุบัน เรียกว่า "เครื่องล่าง" โดยเครื่องล่าง หมายถึง ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่นอกเหนือ จาก ตัวบั้งไฟ โดย ในชุมชน คุ้มวัด ใน เขต เทศบาลเมืองยโสธร มีการจัดทำและตกแต่งบั้งไฟเอ้ ของชุมชน (ในราว 30 ปีก่อน) และ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่นิยมตกแต่งบั้งไฟ และเครื่องล่าง ด้วยลายกรรไกรตัด (มากกว่า 200 ปี) ซึ่งมีคุ้มวัดและชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ (เมืองศรีภูมิ) มีบั้งไฟของตนเองในแต่ละชุมชน นอกจากนี้ ยังพบว่า ในหลายหมู่บ้าน ในเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการจัดทำบั้งไฟเอ้ ตกแต่งสวยงาม ในแต่ละชุมชน มาแต่ยุคก่อนที่ จะมีการประชาสัมพันธ์ ให้งานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร เป็นงานประเพณีประจำจังหวัดและโปรโมทโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปี 2523 ซึ่งในปัจจุบัน หลังปี 2530 เป็นต้นมา พบว่า การทำบั้งไฟเอ้ตกแต่งสวยงาม เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยระยะหลัง ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร ไม่มีการทำบั้งไฟเอ้หรือการตกแต่งบั้งไฟโดยคนในชุมชนแล้ว แต่นอกเขตพื้นที่ ในอำเภอของจังหวัดยโสธร ยังคงมีการจัดทำและตกแต่งเอ้บั้งไฟ อาทิ อำเภอทรายมูล และอำเภอคำเขื่อนแก้ว โดยเป็นบั้งไฟเอ้ ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ส่วนที่อำเภอสุวรรณภูมิ พบว่า ยังคงมีการจัดทำและตกแต่งบั้งไฟ โดยคนในชุมชน และช่างในพื้นที่เรียกว่า "บั้งไฟลายศรีภูมิ" ส่วนบั้งไฟเอ้ขนาดใหญ่ และเครื่องล่าง (ตัวรถบั้งไฟ) ที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามนั้น พบว่า มีการทำและพัฒนาต่อเนื่อง ในหมู่บ้าน โดยช่างพื้นบ้าน โดยเฉพาะ อ.ครุฑ ภูมิแสนโคตร บ้านทรายขาว ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในพื้นที่จังหวัดยโสธร, อำเภอสุวรรณภูมิ, อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และในเขตภาคอีสาน ต่อเนื่อง และ อ.เลื่อน สามาลา ช่างบั้งไฟตกแต่งสวยงาม แห่ง บ้านแคน ตำบลโหรา อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีบั้งไฟสวยงาม ได้รางวัลชนะเลิศ ทั้งในงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งเขตพื้นที่อื่น ๆ ในภาคอีสาน และภาคกลางด้วย โดยทั้งนี้ ช่างที่จัดทำบั้งไฟและตกแต่งบั้งไฟสวยงาม ในรูปแบบเอกลักษณ์ ลายกรรไกรตัด หรือ "ลายศรีภูมิ" นั้น ที่มีชื่อเสียงและเป็น ปราชญ์แห่งท้องทุ่งกุลา คือ อ.เลียบ แจ้งสนาม ภูมิลำเนา บ้านเล้าข้าว ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด (ปัจจุบัน พำนักในเขต อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด) โดยรายละเอียดของบั้งไฟและการตกแต่งบั้งไฟลายสับ หรือ ทั่วไป รวมทั้งเครื่องล่าง จะประกอบด้วย

ลายบั้งไฟ : ใช้ลายศิลปไทย คือ ลายกนก อันเป็นลายพื้นฐานในการลับลายบั้งไฟ โดยช่างจะนิยมใช้กระดาษดังโกทองด้านเป็นพื้นและสีเม็ดมะขามเป็นตัวสับลาย (ยกเว้น ลายศรีภูมิ ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่เป็น ลายกรรไกรตัด และนิยมใช้สีแดงเลือกนก ตัด สีเหลืองทอง) เพื่อให้ลายเด่นชัดในการตกแต่งเพื่อให้ความสวยงาม

1. ตัวบั้งไฟ : มีลูกโอ้จะใช้ลายประจำยาม ลายหน้าเทพพนม ลายหน้ากาล ลูกเอ้ใช้ลายประจำยาม ก้ามปูเปลว และลายหน้ากระดาน ฯลฯ

2. กรวยเชิง : เป็นลวดลายไทยที่เขียนอยู่เชิงยาบที่ประดับพริ้วลงมาจากช่วงตัวบั้งไฟ

3. ยาบ : เป็นผ้าประดับใต้เลาบั้งไฟ จะสับลายใดขึ้นอยู่กับช่างบั้งไฟนั้น เช่น ลายก้านขูดลายก้าน ดอกใบเทศ

4. ตัวพระนาง : เป็นรูปลักษณ์สื่อถึงผาแดงนางไอ่ หรือตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ พระลักษณ์ พระราม เป็นต้น

5. กระรอกเผือก : ท้าวพังคี แปลงร่างมาเพื่อให้นางไอ่หลงใหล

6. ปล้องคาด : ลายรักร้อย ลายลูกพัดใบเทศ ลายลูกพัดขอสร้อย เป็นต้น

7. เกริน : เป็นส่วนที่ยื่นออกสองข้างของบุษบก เป็นรูปรอนเบ็ดลายกนก สำหรับตั้งฉัตรท้ายเกริน ราชรถประดับส่วนท้ายของหางบั้งไฟ

8. บุษบก : เป็นองค์ประกอบไว้บนราชรถ เพื่อสมมุติให้เป็นปราสาทผาแดงนางไอ่

9. ต้างบั้งไฟ : ลายกระจังปฏิญาณ ลายก้านขด ลายพุ่มข้าวบิณฑ์

10. ลายประกอบตกแต่งอื่น ๆ : ลายกระจังตั้ง กระจังรวน กระจังตาอ้อย ลายน่องสิงห์ บัวร่วน กลีบขนุน